( สัปดาห์ที่ 3 : ครอบครัวใหม่… ในพระคริสต์)
วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ – วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2024
———————————————————————————————————————
กดเพื่อฟัง>> เสียงบทภาวนา “ครอบครัวใหม่… ในพระคริสต์ “
ข้อพระคัมภีร์สำหรับการใคร่ครวญ
- วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2024 : 1 โครินธ์ 12 : 12 – 27 : อวัยวะในพระกายพระคริสต์
- วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 : 2 โครินธ์ 5 : 14 – 19 : ชีวิตที่ถูกสร้างใหม่
- วันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2024 : กาลาเทีย 6 : 1 – 10 : จงช่วยรับภาระของกันและกัน
- วันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2024 : เอเฟซัส 4 : 2 – 7 : ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
- วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2024 : เอเฟซัส 4 : 11 – 16 : การเติบโตและบทบาทที่ต่างกัน
- วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2024 : เอเฟซัส 4 : 25 – 32 : วิถีชีวิตใหม่
- วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2024 : โคโลสี 3 : 5 – 17 : ชีวิตใหม่ในพระคริสต์
บทความส่วนหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ สหกรณ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 37 หน้า 8-11 กล่าวถึงเรื่อง ครอบครัวที่มีความสุข ไว้ว่า
จริงๆ แล้ว ทุกคนก็อยากมีครอบครัวที่มีความสุขด้วยกันทั้งนั้น ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขได้ จากการสังเกตและประสบการณ์ ความสุขในครอบครัว
น่าจะประกอบด้วยเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) ครอบครัวที่มีความสุข คือ สุขภาพของสมาชิกในครอบครัวจะต้องดี
การมีสุขภาพดีต้องประกอบด้วยการรักษาสุขภาพ และการรักษาสุขภาพคือ ต้องสร้างนิสัยดีทางสุขภาพ เริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์
ระมัดระวังโรคภัยไข้เจ็บอันอาจป้องกันได้ มีการออกกำลังกายตามสมควรทุกคนได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ
2) ครอบครัวที่มีความสุข คือ จะต้องมีเวลาให้กันและกัน
สามีภรรยาที่ต่างคนต่างมีภาระและกิจกรรมของตัวเอง มีความสนใจไปคนละอย่างคงจะหาความสุขด้วยกันยากในฐานะเป็นครอบครัว
การให้เวลากับลูกๆ ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่จึงควรหาเวลาให้กับลูก พ่อแม่ลูกควรมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมที่ทำร่วมกันจะช่วยเป็นพาหะ
สร้างความใกล้ชิดสนิทสนมอันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความสุข
3) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่สื่อสารกันด้วยความเข้าใจ
สมาชิกในครอบครัวต้องสื่อสารกันตลอดเวลา จึงต้องมีความเข้าใจในสาระให้ตรงกัน และต้องสื่อความรู้สึกได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
คือ การพูดที่เข้าใจกันไปคนละอย่าง หรือพูดคลุมเครือฟังไม่ชัดทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ บางทีเรื่องเล็กน้อย กลายเป็นเรื่องเถียงทะเลาะกันใหญ่โต
การสื่อสารความรู้สึกก็เป็นเรื่องสำคัญ การเก็บความรู้สึกแล้วอ้ำอึ้งไม่พูดไม่จาเกี่ยวกับปัญหาจะทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นและสะสมไปเรื่อยๆ
ทางที่ดีควรหาหนทางพูดกันให้รู้เรื่อง โดยพยายามฟังกันและกันไปด้วยมิใช่ว่าจะพูดข้างเดียวโดยไม่ฟังใครเลย
4) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่จัดการเรื่องการเงินได้
การดำรงชีวิตในลักษณะครอบครัวที่มีความสุขคงจะต้องอยู่ในสภาพการจัดการเศรษฐกิจดีระดับหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ
ไม่รู้จะจัดการเรื่องเงินอย่างไร ควรมีการแบ่งแยกบัญชีให้ชัดเจน ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยเพียงไร จะต้องปรึกษาหารือทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน
พูดจาตกลงกันในเรื่องการจัดการเรื่องเงิน ว่าควรใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นและสำคัญใดสำหรับครอบครัว
5) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่สามารถแบ่งความรับผิดชอบได้
การอยู่ร่วมกันนั้น สมาชิกภายในครอบครัวแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบเรื่องของตัวเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่ง คือความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ลูกๆ ต้องถูกสอนและฝึกให้ดูแลตัวเองได้ รวมทั้งดูแล ข้าวของของตนเอง และสามารถรับผิดชอบเรื่องของส่วนรวมได้ด้วย
สามีภรรยาเองก็มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สมัยนี้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น สามีจึงควรต้องช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน
การช่วยเหลือกันและกันในครอบครัวจะช่วยให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
6) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่อยู่ด้วยกันบนพื้นฐานของความรักและการรู้จักให้อภัย
ความรักกันและกันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ความรักกันและทำให้เราเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ทำให้เราอยากให้เวลากันและกัน
ทำให้เราอยากพูดกันรู้เรื่อง เข้าใจอารมณ์กันและกัน ความรักทำให้เราให้อภัยกันและกันได้เช่นกัน
เมื่อมีเรื่องที่ทำให้มีปัญหาและทำให้เรามีกำลังใจในการแก้ปัญหานั้นๆ ด้วย ความรักทำให้เกิดความอดทน และความรักทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์
7) ครอบครัวที่มีความสุข คือ ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัว
ใช้ความพยายามที่จะให้ชีวิตครอบครัวเป็นสุข คำที่สำคัญ คือ “ความพยายาม” ความสุขไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
แต่ทุกคน โดยเฉพาะสามี-ภรรยา หรือ พ่อแม่ ต้อง “พยายาม” ทำให้เกิดขึ้นเหมือนกิจการที่ต้องลงทุนจึงจะได้กำไรกับครอบครัวก็ต้องลงทุนเหมือนกัน
การลงทุนในครอบครัว ก็คือ การสร้างความตระหนักในความสำคัญของครอบครัว การใช้เวลา การใช้สติปัญญาและความสามารถและการวางแผนที่จะให้บังเกิดผล
ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินไป
จากบทความข้างต้นนั้น ทำให้เห็นหลักการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งเราทุกคนล้วนอยากมีครอบครัวในอุดมคติ ครอบครัวที่อยากจะร่วมสร้าง
อยากให้เป็นดั่งที่เราคาดหวังไว้ อยากให้ครอบครัวมีความสุข รัก ดูแล เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน แต่หากย้อนกลับมามองดูสภาพครอบครัวของเราในปัจจุบัน
อาจจะไม่สอดคล้องกับบทความข้างต้น และอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราวาดฝันไว้ เราอาจจะกำลังเผชิญและอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้มีความสุขเอาเสียเลย
มีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา ปัญหาที่ยังค้างคาสะสม ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ไม่มีทางออก ยิ่งแย่ลงไปหากเรารู้สึกไม่อยากกลับบ้าน
รู้สึกว่าบ้านและครอบครัวเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเรา เป็นความจริงที่เราต้องตระหนักว่าคงไม่มีครอบครัวไหนที่จะมีความสุขและสมบูรณ์แบบในทุกด้าน
ครั้งหนึ่งเราเคยอยู่ในครอบครัวของพระเจ้า แต่เมื่อเราตกอยู่ในความผิดบาป เนื่องจากการไม่เชื่อฟังพระเจ้า ผลของการกระทำนั้นคือ
เราถูกตัดขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้า ถูกแยกออกไป เราดำเนินชีวิตตามใจปรารถนา ทำสิ่งที่ไม่ได้เป็นพระประสงค์ของพระองค์
ชีวิตขาดความสุขและไม่พบสันติสุขแท้ในชีวิต เราวนเวียนกับวิธีและหนทางที่เราคิดว่าจะช่วยเราได้ แต่เราก็ยังไม่พบทางออกนั้น
จนกระทั่งเมื่อเรายอมรับความอ่อนแอของตนเอง ยอมรับการช่วยเหลือที่มาจากพระเจ้า คือ การเชื่อและไว้วางใจในพระเยซูคริสต์ เชื่อว่าพระองค์นั้น
ได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อความผิดบาปของเรา และพระองค์ทรงเป็นขึ้นมามีชัยชนะเหนือความตาย เราได้ต้อนรับพระองค์เข้ามาในชีวิตจิตใจเป็นพระผู้ช่วยให้รอด
เป็นเจ้านายในชีวิต เชื่อและไว้วางใจในพระองค์ กลับมาคืนดีมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอีกครั้ง บัดนี้เราจึงมีส่วนกลับมาสู่ครอบครัวของพระเจ้า
หรือเรียกได้ว่าเป็น ครอบครัวใหม่ในพระคริสต์ ไม่ได้หมายถึงความผูกพันกันทางสายเลือด แต่เรากำลังผูกพันกันด้วยความรักของพระเจ้า
ผูกพันกันด้วยความสัมพันธ์ที่เรามีส่วนมาร่วมสามัคคีธรรมกันที่คริสตจักร คริสตจักรก็คือ ครอบครัวใหญ่ที่มีผู้เชื่ออยู่ร่วมกัน ซึ่งหมายความว่า
เราไม่ได้อยู่เพียงลำพังอีกต่อไป เรากำลังอยู่และร่วมกันสร้างครอบครัวของพระเจ้ากับพี่น้องในความเชื่อ บนพื้นฐานของพระวจนะ
ที่จะให้ครอบครัวนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความผูกพัน ความสุข การแบ่งปัน การเอื้ออาทร การให้อภัย การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฯลฯ
คงไม่มีครอบครัวไหนที่จะมีความสุขและสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ครอบครัวของพระเจ้าก็เช่นกัน เราแต่ละคนอาจจะไม่สมบูรณ์เมื่อมาอยู่ร่วมกัน
อาจจะมีกระทบกระทั่งกันได้บ้าง มีความคิดเห็นขัดแย้งกันบางเวลา มีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาแบบนั้น เราก็ไม่ควรแยกตัว
หรือหนีออกจากครอบครัวนี้ไป เราควรเปิดใจ ตักเตือน พูดความจริงด้วยใจรัก ไม่ตัดสินพี่น้อง สื่อสารชัดเจน ฟังและทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น
ปรับตัวเข้าหากัน หาจุดร่วมกัน ใจเขาใจเรา อยู่ร่วมกันด้วยความรักและการให้อภัยที่มาจากพระเจ้า สร้างครอบครัวของพระเจ้าให้เป็นที่ปลอดภัย (safe zone)
และน่าอยู่ ให้เป็นครอบครัวในอุดมคติที่เกิดขึ้นได้จริง
หัวข้ออธิษฐาน
- การรัก การให้อภัยซึ่งกันและกัน และการกลับมามีความสัมพันธ์และคืนดีกันอีกครั้ง ระหว่างเราและพี่น้องสมาชิก
- การสร้างคริสตจักรให้เป็นครอบครัวที่เปี่ยมไปด้วยความรักความผูกพันของพระเจ้า เป็นที่ที่ผู้คนอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้