ประวัติคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่
เมื่อปี ค.ศ.1864 (พ.ศ.2407) ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ (เป็นเจ้าหลวง) ฝรั่งคนแรกได้มาถึงเชียงใหม่ ท่านผู้นั้นคืออาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี การเดินทางของท่าน มาโดยทางเรือตามลำน้ำเจ้าพระยาจากกรุงเทพฯ มาขึ้นที่เมืองตากทั้งนี้เพราะเหตุว่าแม่น้ำปิงตอนจังหวัดตากถึงเชียงใหม่เต็มไปด้วยแก่งหิน บางตอนน้ำเชี่ยวมากที่จังหวัดตากอาจารย์ต้องใช้ช้างเป็นพาหนะรอนแรมมาถึงเชียงใหม่ ใช้เวลาร่วม 50 วัน การมาเชียงใหม่ครั้งแรกของท่านนั้น เพื่อจะมาเข้าเฝ้าเจ้าเมืองเชียงใหม่ ออกจากกรุงเทพฯ ร่วม 3 เดือน เพื่อจะมาพบเจ้ากาวิโรรส ไร้ผล เพราะพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้สวนทางกันกับอาจารย์ ได้ไปราชการที่กรุงเทพฯ ท่านอาจารย์ได้พักผ่อนที่เชียงใหม่ ในขณะนั้นชาวบ้านไม่เคยเห็นฝรั่งมาก่อนต่างก็แตกตื่นมาดู ต่างก็ให้สมญาว่า “กุลาขาว” หรือ “กุลาเผือก” ท่านอาจารย์มีความร้อนรนในการที่จะประกาศพระกิตติคุณในเชียงใหม่ จุดประสงค์ในการเพื่อจะขอมาเข้าเฝ้าพระเจ้าเมืองเชียงใหม่นั้น ก็เพื่อมาขออนุญาตประกาศข่าวดีข่าวประเสริฐให้แก่ชาวเชียงใหม่ หลังจากพักผ่อนจากการเดินทางอันสะบักสะบอมมาจากกรุงเทพฯ ท่านอาจารย์แมคกิลวารี ก็ได้รับอนุญาตให้ทำการประกาศคริสตศาสนาในนครเชียงใหม่ได้
ปีค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) อาจารย์แมคกิลวารีพร้อมด้วยครอบครัวกับอาจารย์โยนาธาน วิลสัน และครอบครัวของท่าน ได้อพยพมาอยู่นครเชียงใหม่มาถึงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) ที่พักของครอบครัวทั้งสองคือ ศาลากลางเมือง คนเชียงใหม่สมัยนั้นพากันเรียกว่า “ศาลาย่าแสงคำมา” ณ ที่ศาลาที่ๆ พักนั่นเองใครๆ ถึงว่ามีสิ่งแปลกที่น่าจะมาดู คือมี “กุลาเผือก” มาพักอยู่ คนจึงแตกตื่นกันมาดูด้วยความอยากรู้อยากเห็นบ้างก็เห็นช้อนส้อมเป็นของแปลก กินข้าวต้องใช้ส้อม ช้อนแทนมือ “หีบเสียง” หรือ “บอกซอ” เป็นหีบที่มีเสียงเพลง ต่างก็พากันหอบลูกจูงหลานมาดู มาฟัง นั่นคือโอกาสที่อาจารย์ได้สังสรรค์ คนพื้นเมืองต่างก็รู้สึกคุ้นๆ กับ “กุลาเผือก” อาจารย์และครอบครัวให้ความเป็นกันเองกับทุกคนที่มาหา จุดของการสนทนาก็คืออาจารย์และครอบครัวได้หว่านพืชบอกข่าวประเสริฐให้กับทุกคน มีชายคนหนึ่งรูปร่างสูง ขาว ได้วนเวียนมาหาท่านอาจารย์อยู่เสมอ เขาผู้นั้นคือ “หนานอินต๊ะ” ต้นตระกูลอินทะพันธ์ หนาน (ทิด) มีความสนใจเรื่องแปลกๆ ที่อาจารย์เล่าให้ฟัง เช่นอาจารย์บอกเขาว่าในวันนั้นจะมืดอยู่ชั่วขณะหนึ่งการณ์นี้จะเกิดในวันนั้นแน่ หนานไม่เชื่อ (เพราะรู้เหมือนกันว่าทางเมืองเหนือเรียกกันว่าจันทรคราสตือเดือน) แหละไม่มีใครรู้กำหนด แต่ถึงวันนั้นปรากฎว่าเกิด “สุริยุปราคา” จริงๆ นี้คือเหตุที่ทำให้ “หนานอินต๊ะ” มีความเลื่อมใสในอาจารย์ได้เริ่มเรียนคริสตศาสนา
วันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1868 อาจารย์แมคกิลวารีได้ประกาศตั้งคริสตจักรในเชียงใหม่เป็นคริสตจักรแรกในภาคเหนือ สมาชิกของคริสตจักรมี 2 ครอบครัว คือครอบครัวของท่านอาจารย์ทั้งสองนั้นเอง
วันที่ 3 มกราคม 1869 (พ.ศ.2412) หนานอินต๊ะ ได้รับบัพติสมาเป็นคริสเตียนคนแรก หลังจากนั้น 7 ปี นางจันทร์ ภรรยากับบุตรของหนานอินต๊ะได้เข้าเป็นคริสเตียนเมื่อ 3 กันยายน ค.ศ.1876 พระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์มีความเอื้อเฟื้อต่อครอบครัวของอาจารย์ทั้งสองเป็นอย่างมาก ได้อนุญาตให้หาเลือกซื้อที่ดินได้ตามความพอใจ ท่านอาจารย์จึงมาซื้อที่ดินริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก คือที่ดินที่ตั้งโบสถ์ขณะนี้
วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1869 “น้อยสุริยะ” รับศีลบัพติสมาเป็นคริสเตียนคนที่สอง คนนี้เป็นคนบ้านนอกดูเหมือนจะเป็นหมอยา หรือหมอเวทมนต์คาถาได้ยินคำเล่าลือถึง “กุลาเผือก” ก็แวะไปดูและได้คุยกันบ้างเพียงเล็กน้อยก็เลยไปที่อื่นเสีย แต่ยังติดใจอยู่ เวลาบ่ายก็กลับมาหาอาจารย์ (กุลาเผือก) คราวนี้ได้สนทนากันเป็นเวลานานเป็นที่ถูกอกถูกใจกันมากจนเย็นลงจึงกลับบ้าน แต่ก่อนจะกลับนั้นอาจารย์มีคำขอว่าในวันอาทิตย์หน้าเวลาเช้าขอเชิญมาคุยอีกจะได้หรือไม่ น้อยสุริยะก็รับคำและสัญญาว่าจะเข้ามาหาอีก ในอาทิตย์หน้าเขาได้มาและได้ยินคำเทศนาของอาจารย์มีความสนใจมากจนคืนนั้นปรากฎว่าเขานอนค้างกับอาจารย์ที่ศาลาแห่งนั้น เมื่อกลับบ้านก็เล่าให้ภรรยาและบุตรฟัง นางคำมูลกับบุตรของน้อยสุริยะได้รับศีลตามสามีเมื่อ 2 มกราคม ค.ศ.1876
เมื่อ 27 มิถุนายน ค.ศ.1869 แสนยาวิชัย ได้รับศีลเป็นคริสเตียนเป็นคนที่ 3 (คนนี้ปรากฎว่ารับศีลแล้วย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด เรื่องราวของคนผู้นี้เป็นที่เงียบหายไป) คริสเตียนคนที่ 4 มีชื่อว่าหนานไชยเพื่อนสนิทกับน้อยสุริยะ เขาผู้นี้เป็นครูสอนภาษาพื้นเมืองเชียงใหม่ให้กับอาจารย์วิลสัน เขารับศีลเมื่อ 1 สิงหาคม ค.ศ.1868
โศกนาฎกรรมสำหรับชาวคริสเตียนได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายคือว่าเมื่อ 14 กันยายน ค.ศ.1869 น้อยสุริยะกับหนานไชยถูกประหารชีวิตที่ป่าหนามเล็บแมว ทั้งนี้เพราะพญาสามล้านเทพสิน มีศักดิ์เป็นพญาเค้าสนามของพระเจ้ากาวิโรรส พระเจ้าเชียงใหม่ พญาสามล้านเป็นผู้มีอำนาจได้เรียกตัวหนานทั้งสองมาไต่ถามปากคำว่า เขาทั้งสองเป็นศิษย์ของพระเยซูใช่หรือไม่ เพราะความเชื่อและได้เดินตามพระบาทของพระองค์ พระองค์เป็นทางนั้นแห่งความจริงและชีวิต ทั้งสองคนจึงต้องอาญาและถูกประหารชีวิต การประกาศศาสนาจึงหยุดชะงักชั่วคราว บรรดาลูกจ้างคนงานต่างพากันกลัวอาญาของพญาเค้าสนาม พากันแตกตื่น หนีกันไปหมด หนานอินต๊ะได้หนีไปซ่อนตัวอยู่ชั่วคราวเมื่อเหตุการณ์นั้นสงบลงก็กลับมา และเขาก็ได้สถาปนาเป็นผู้ปกครองคนแรกของคริสตจักรในเชียงใหม่ หนานอินต๊ะเป็นคริสเตียนอยู่ 13 ปี ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1882
ผู้ปกครองคนที่ 2 คือหนานศรีวิชัยต้นตระกูล “วิชัย” ท่านผู้นี้ได้รับบัพติสมาปีค.ศ.1877 รับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองหลังจากรับบัพติสมา 3 ปี คือเมื่อปี ค.ศ.1880
ศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรในเชียงใหม่คือ “หนานนันตา” ท่านผู้นี้มาเรียนรู้ในเรื่องพระเจ้ากับอาจารย์ทั้งสอง แต่ในขณะที่เหตุการณ์ประหารชีวิตคริสเตียนทั้งสอง หนานนันตากลัวอาชญาของพระเค้าสนาม ได้หนีภัยไปอยู่นอกอาณาเขตไทย คือไปอยู่กับพวกกะเหรี่ยง (ยางแดง) ท่านไปอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 12 ปี เหตุการณ์นั้นได้สงบลงแล้วท่านได้กลับมาหาอาจารย์ ได้เล่าเรียนเรื่องพระเจ้าอีกมีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นจนได้รับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองคริสตจักร มีความปราดเปรื่องในพระคัมภีร์ที่สุด ได้รับสถาปนาเป็น ศิษยาภิบาล นับเป็นศิษยาภิบาลคนแรก ในสมัยนั้นใครต่อใครเรียกท่านว่า “ครูนันตา” (เสียดายที่ท่านไม่มีบุตรชายสืบตระกูล เราจึงไม่ทราบอะไรต่อมา)
อาจารย์วิลสัน นอกจากท่านจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านคริสตศาสนา ประกาศพระกิตติคุณขององค์สมเด็จพระมหาเยซูคริสต์เจ้า ท่านเป็นมิชชันนารีมาเพื่อประกาศ อาจารย์วิลสันเรียกได้ว่าท่านเป็นสถาปนิกผู้หนึ่ง และท่านยังมีพรสวรรค์ในการร้องเพลง เล่นดนตรี (หีบเพลง) ท่านได้ประพันธ์เพลงไว้หลายบท ต่อมาท่านได้ย้ายจากจังหวัดเชียงใหม่ไปจังหวัดลำปาง ที่ลำปางท่านได้ตั้งคริสตจักรที่ลำปาง (ชาวคริสเตียน นครลำปางรู้จักกันดี) ท่านได้ถึงแก่กรรมที่จังหวัดลำปาง ศพของท่านถูกฝังไว้ที่นั่น
อาจารย์แมคกิลวารี (ลืมบอกไปว่าคนในสมัยนั้นเรียกท่านว่าพ่อครูหลวง) นับตั้งแต่ท่านมาอยู่เชียงใหม่ ท่านให้ความเป็นกันเองทุกคน จะเป็นเจ้านาย หรือคนบ้านนอก บ้านนา ท่านสังคมกับคนไม่เลือกหน้า ท่านจึงเป็นบุคคลที่มีคนรู้จักมาก อาจารย์แมคกิลวารีไม่ได้เรียนมาในทางแพทย์ อาจารย์ก็มีความรู้ทางแพทย์อยู่บ้าง จนในสมัยนั้นฝรั่งที่ขึ้นมาใครต่อใครจึงมักเรียกว่า “พ่อเลี้ยง” หรือหมอเชียงใหม่ในสมัยนั้นยังไม่รู้ในเรื่องการแพทย์สมัยใหม่ เจ็บป่วยก็ต้องมีการไล่ผี เลี้ยงผี หมอในสมัยนั้นก็คือหมอผีหรือหมอเวทมนต์ ผู้ที่ป่วยส่วนมาก ก็มีการเจ็บไข้เป็นส่วนมาก อาจารย์แมคกิลวารีมียาควินิน ซึ่งขณะนั้นเรียกได้ว่าเป็นยาขนานเดียวที่รักษาไข้อย่างชะงัก อาจารย์เป็นผู้นำมาเผยแพร่ แต่ไม่มีใครยอมรับเอาไปกินเมื่อเกิดมีอาการ ขนาดเพ้อเขายังพากันคิดว่าผีเข้า หมอผีถูกเรียกมาขับไล่ จะรับเอายาควินินมากินก็ยังกลัว “กุลาเผือก” หลอกเอาไปให้ยักษ์กิน โรคห่า อีกอย่างหนึ่งซึ่งระบาดมากคือ ฝีดาษ เมื่อเป็นก็ไม่มีทางรักษา เป็นขนาดต้องรอความตาย ใช้ใบตองกล้วยรองนอน หากโชคดีรอดตายก็เสียโฉม อาจารย์ก็มีหนองฝีปลูกให้ไม่มีใครรับเอายาไปกิน ไม่มีใครเชื่อยอมให้ปลูกฝี แต่ในที่สุดผู้รับเอายาควินินไปกินบำบัดไข้คนแรกคือ แสนยาวิชัย (หนานศรีวิชัย) บิดาของอาจารย์ศรีโหม้ วิชัย ต่อมาจึงเป็นที่แพร่หลายไป การปลูกฝีครั้งแรกมีเด็กที่กล้าเข้ามาหาอาจารย์ขอให้อาจารย์ปลูกให้เด็ก 3 คน คนหนึ่งในจำนวนนั้นคืออาจารย์ศรีโหม้ วิชัย ขณะนั้นมีอายุได้ 7 ขวบ นี่แหละคือผลที่มากับการประกาศข่าวอันประเสริฐ
โบสถ์คริสตจักรหลังแรกก็คือบ้านของอาจารย์แมคกิลวารี เป็นบ้านพักชั่วคราวซึ่งหลังคามุงด้วยหญ้าคา บ้านพักของอาจารย์ได้สร้างถาวรขึ้นแล้วอาจารย์ได้สร้างโรงเรียนหญิงใกล้กันกับบ้านพักของท่าน (คือโรงเรียนพระราชชายา) ต่อมาเป็นโรงเรียนดาราสาขา (ขณะนี้ย้ายเข้ารวมอยู่ในโรงเรียนดาราวิทยาลัยแล้ว) การนมัสการพระเจ้าก็ได้ย้ายจากบ้านพักของอาจารย์ที่โรงเรียนหญิง ก็คงนับได้ว่าที่นี่เป็นโบสถ์หลังที่สอง การนมัสการ ณ สถานที่นี้คงดำเนินไปได้นานพอสมควร
ในปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) มีครอบครัวคริสเตียนครอบครัวหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกาได้ยกมรดกที่ได้รับจำนวนหนึ่งให้เพื่อใช้ในการสร้างโบสถ์คริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลว่าในขณะนั้นคริสตจักรมีคริสตสมาชิกมาก โบสถ์ถาวรยังไม่มี ต้องอาศัยอาคารเรียนหญิงเป็นที่นมัสการ ห้องประชุมก็คับแคบไม่พอที่จะบรรจุสมาชิก การก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ (โบสถ์เชิงสะพานที่เพิ่งย้ายมา) การสร้างได้ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ โรงเลื่อยจักรหมอชิคเป็นผู้ส่งไม้ (หมอชิคได้มาเป็นมิชชันนารี แต่ภายหลังลาออกไปตั้งโรงเลื่อย ชาวพื้นเมืองมักจะพากันเรียกฝรั่งหรือมิชชันนารีว่าหมอ โรงเลื่อยจักรนั้นปัจจุบันคือคุ้มวงตะวัน) เพื่อใช้ในการก่อสร้าง รวมราคาก่อสร้าง 7,000 เหรียญดอลล่าร์เทียบกับเงินบาทในสมัยนี้ได้ แต่ในสมัยนั้นประมาณเป็นเงิน 15,000 บาท คริสตสมาชิกในขณะนั้นรวมทั้งลูกเล็กเด็กแดงมีประมาณ 500 คน ได้ร่วมกันบริจาคประมาณ 1,800 บาท
โบสถ์เสร็จกระทำพิธีฉลองในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1891 คริสตสมาชิกในเชียงใหม่-ลำพูน และจังหวัดใกล้เคียงมารวมกันที่โรงเรียนหญิงประมาณ 500 คน พากันเดินขบวนอย่างมีระเบียบตรงมายังโบสถ์ใหม่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามถนนเจริญเมืองในการนมัสการพิเศษมอบพระวิหารของพระเจ้านั้น ผู้เทศนาคืออาจารย์แมคกิลวารี ท่านได้ใช้พระธรรมเอเสเคียลบทที่ 47 ข้อ 1-5 เป็นหัวข้อเทศนา หมอดอจด์เป็นผู้อธิษฐานมอบถวายโบสถ์ให้แก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจารย์คอลินส์ ได้ประกอบพิธีศีลบัพติสมาแก่สมาชิกใหม่รวม 5 ท่าน ศิษยาภิบาลนันตา (ครูนันตา) ประกอบพิธีศีลระลึก นับจากวันนั้นเป็นต้นมาโบสถ์อันถาวรของคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ได้เริ่มต้นสืบต่อมาด้วยอายุอันยาวนาน ที่ดินของโบสถ์เจ้าหลวงในสมัยนั้นเป็นผู้ยกให้ (แต่ปรากฎว่าหลังท่านอาจารย์แมคกิลวารีต้องให้เงินแก่ผู้อาศัยอยู่เดิมเป็นการตอบแทนในอันที่จะไปหาที่อยู่ใหม่)
นับแต่อาจารยแมคกิลวารี และอาจารย์วิลสันได้ประกาศตั้งคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ เมื่อ19 เมษายน ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) จนถึงบัดนี้มีอายุราว 153 ปี (ปีค.ศ. 2021) บริเวณของโบสถ์และตัวอาคารของโบสถ์ปัจจุบันได้เป็นโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนไปแล้ว และนับจากวันฉลองโบสถ์หลังนั้น 9 สิงหาคม ค.ศ.1891 (พ.ศ.2434) จนถึงบัดนี้ 77 ปี (ค.ศ.1968) เปรียบกับคนอายุ 77 ปี ก็นับว่าแก่ชราลงมากเช่นกันกับตัวอาคารของโบสถ์มีความชำรุดทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด คณะธรรมกิจของคริสตจักรและบรรดาสมาชิกจึงมีความเห็นว่าต้องสร้างตัวอาคารโบสถ์ใหม่ขึ้นแทน
เหตุผลในการที่จะสร้างนั้น ถ้าประมาณแล้วก็เป็นดังนี้คือ โบสถ์ผุผังลงมาก เสาโบสถ์ชำรุดน่ากลัวอันตราย ประการที่ 2 โบสถ์ที่สร้างมา 77 ปีแล้วที่ว่าโอ่โถงในสมัยนั้นขณะนี้คับแคบลง สมาชิกของคริสตจักรเพิ่มมากขึ้น ต้องแบ่งการนมัสการเป็นสองรอบ อนึ่งถ้าหากว่ามีนักเรียนจากสองโรงเรียน คือปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย กับโรงเรียนดาราวิทยาลัยมาร่วมนมัสการเหมือนสมัยก่อนแล้วโบสถ์จะยิ่งไม่พอบรรจุ นี่แหละคือ เหตุผลอันใหญ่ยิ่งที่จะต้องสร้างโบสถ์ใหม่
เหตุผลในการย้ายที่ตั้งของโบสถ์ในสมัยเริ่มแรกตามที่กล่าวมานั่นก็คือว่าโบสถ์หลังใหม่ต้องมีเนื้อที่กว้างกว่า บริเวณของโบสถ์ก็ต้องกว้างเช่นกัน อีกอย่างก็คือว่าในบริเวณเดียวกันนี้สมควรจะมีสถาบันต่างๆ เกี่ยวกับคริสตสถาน เป็นต้นว่าที่ทำการของคณะสตรีคริสเตียน อนุชนกองประกาศเผยแพร่ กองบรรณศาสตร์สถานฝึกอาชีพ คลังสมุดคริสเตียน และกำลังอยู่ในชั้นดำริอยู่คือสถานที่สำหรับคนชรา (แหละอีกประการหนึ่งก็คือเดิมที่ทางราชการจะขยายถนนเชียงใหม่-ลำพูน การขยายถนนนั้นต้องลึกล้ำเข้ามายังที่ดินของโบสถ์ ก็ยิ่งจะทำให้อาณาเขตของโบสถ์คับแคบลงไป คณะกรรมการจึงต้องหาที่ใหม่ที่จะต้องใช้แทนโบสถ์เก่าของเรา ซึ่งก็ได้สร้างโบสถ์ใหม่ของเราปัจจุบันนี้ สำหรับการขยายถนนของทางเทศบาลก็ได้ขยายจริง แต่ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่แทนคือ ขยายไปทางลำน้ำปิงเสีย)
โบสถ์เสร็จกระทำพิธีฉลองในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ.1891 คริสตสมาชิกในเชียงใหม่-ลำพูน และจังหวัดใกล้เคียงมารวมกันที่โรงเรียนหญิงประมาณ 500 คน พากันเดินขบวนอย่างมีระเบียบตรงมายังโบสถ์ใหม่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามถนนเจริญเมืองในการนมัสการพิเศษมอบพระวิหารของพระเจ้านั้น ผู้เทศนาคืออาจารย์แมคกิลวารี ท่านได้ใช้พระธรรมเอเสเคียลบทที่ 47 ข้อ 1-5 เป็นหัวข้อเทศนา หมอดอจด์เป็นผู้อธิษฐานมอบถวายโบสถ์ให้แก่องค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจารย์คอลินส์ ได้ประกอบพิธีศีลบัพติสมาแก่สมาชิกใหม่รวม 5 ท่าน ศิษยาภิบาลนันตา (ครูนันตา) ประกอบพิธีศีลระลึก นับจากวันนั้นเป็นต้นมาโบสถ์อันถาวรของคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ได้เริ่มต้นสืบต่อมาด้วยอายุอันยาวนาน ที่ดินของโบสถ์เจ้าหลวงในสมัยนั้นเป็นผู้ยกให้ (แต่ปรากฎว่าหลังท่านอาจารย์แมคกิลวารีต้องให้เงินแก่ผู้อาศัยอยู่เดิมเป็นการตอบแทนในอันที่จะไปหาที่อยู่ใหม่)
นับแต่อาจารยแมคกิลวารี และอาจารย์วิลสันได้ประกาศตั้งคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ เมื่อ19 เมษายน ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411) จนถึงบัดนี้มีอายุราว 153 ปี (ปีค.ศ. 2021) บริเวณของโบสถ์และตัวอาคารของโบสถ์ปัจจุบันได้เป็นโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนไปแล้ว และนับจากวันฉลองโบสถ์หลังนั้น 9 สิงหาคม ค.ศ.1891 (พ.ศ.2434) จนถึงบัดนี้ 77 ปี (ค.ศ.1968) เปรียบกับคนอายุ 77 ปี ก็นับว่าแก่ชราลงมากเช่นกันกับตัวอาคารของโบสถ์มีความชำรุดทรุดโทรมอย่างเห็นได้ชัด คณะธรรมกิจของคริสตจักรและบรรดาสมาชิกจึงมีความเห็นว่าต้องสร้างตัวอาคารโบสถ์ใหม่ขึ้นแทน
ทางคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเรียกว่า “กรรมการสร้างโบสถ์” ในที่สุดแบบแปลนโบสถ์ซึ่งอาจารย์เทเลอร์ พอทเตอร์ สถาปนิกของสภาคริสตจักรได้เป็นผู้ออกแบบแปลนโบสถ์ที่เราใช้นมัสการนี้ ชนะการประกวดในสหรัฐอเมริกาได้รับรางวัลที่ 1 เป็นผลให้อาจารย์ผู้ออกแบบได้รับเชิญให้ไปสอนยังมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา การก่อสร้างได้เริ่มและเสร็จลงด้วยเงิน 1,200,000.- บาท ครอบครัวของพ่อเลี้ยงจันทร์ตา อินทราวุธ ได้สร้างศาลาสำหรับการศึกษาเรียนพระวจนะของพระเจ้าในวันอาทิตย์และทำกิจกรรมต่างๆ และครอบครัวสิงหเนตรได้สร้างหอระฆังและไม้กางเขนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึง พระเยซูคริสต์ผู้เป็นขึ้นมาจากความตาย และสัญญาณเรียกคนให้มานมัสการพระองค์ในวันอาทิตย์