( สัปดาห์ที่ 2 : ภาษารัก )
วันจันทร์ที่ 19 – วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2024
———————————————————————————————————————
กดเพื่อฟัง>> เสียงบทภาวนาสัปดาห์ที่ 2 “ภาษารัก”
ข้อพระคัมภีร์สำหรับการใคร่ครวญ
- วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2024 : ยอห์น 4:1-42 : พระเยซูใช้เวลาสนทนากับหญิงชาวสะมาเรีย
- วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2024 : มัทธิว 5:1-16 : คำเทศนาบนภูเขา
- วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2024 : ลูกา 15:11-32 : ภาษารักของพระบิดา
- วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2024 : ลูกา 19:1-10 : พระเยซูให้โอกาสแก่ศักเคียส
- วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 : ยอห์น 8:1-11 : พระเยซูทรงให้อภัย
- วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2024 : ยอห์น 21:1-14 : พระเยซูให้โอกาสใหม่อีกครั้ง
- วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2024 : ยอห์น 21:15-19 : พันธกิจที่ประทานให้เป็นภาษารักของพระองค์เช่นกัน
“Silence Can Give Way To Love.” เป็นคำคมของ Stendhal นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียง ที่อาจทำให้ท่านรู้สึกว่าความเงียบก็เป็นภาษารักแบบหนึ่ง
แต่หลายท่านคงจะคุ้นเคยกับภาษารักที่ไม่ใช่ความเงียบมากกว่า ดังภาษารักในบทเพลงอมตะของศิลปินไทย เช่น “รักคือคำๆ นี้ รักคือความอดทนทุกอย่าง จริงใจให้กัน
รักคือความเข้าใจ รักคือยอมอภัยทุกอย่าง อภัยให้กัน…..” จากเพลงชื่อ “ความรัก” ของวงออโตบาห์น ที่ทำให้เราประทับใจในความอ่อนหวานและความหมายของภาษารัก
ในเพลงนี้ หรือบทเพลงรัก “ข้ามขอบฟ้า” ของครูสง่า อารัมภีร์ ที่มีเนื้อความในบรรทัดแรกว่า “ขอบฟ้าเหนืออาณาใดกั้น ใช่รักจะดั้นยากกว่านกโบยบิน รักข้ามแผ่นน้ำ
รักข้ามแผ่นดิน เมื่อความรักดิ้น ฟ้ายังสิ้นความกว้างไกล…” ก็ทำให้เรารู้สึกได้ถึงพลานุภาพของความรักที่ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้ สองเพลงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแสนล้านเพลง
ที่ศิลปินได้สื่อสารภาษารักออกมาในแง่มุมต่างๆ ตามแรงบันดาลใจและความรู้สึกนึกคิดในแบบปุถุชน คนธรรมดา
ภาษารักของพระเยซูเป็นอย่างไร ครั้งหนึ่งพระเยซูกับสาวกเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มผ่านเมืองสิคาร์ ในแคว้นสะมาเรียอันเป็นดินแดนของชาวสะมาเรีย
ที่ชาวยิวรังเกียจเดียดฉันท์ และหลีกเลี่ยงที่จะคบค้าสมาคมด้วย พระองค์เดินทางไปโดยไม่หวั่นเกรงที่จะถูกกล่าวหาว่าพระองค์ผู้เป็นรับบีได้ละเมิด
ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียม และกฎเกณฑ์ของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด พระเยซูพบกับหญิงชาวสะมาเรียคนหนึ่งที่บ่อน้ำในเวลาเที่ยงวัน ในขณะที่บรรดาสาวกไปซื้ออาหาร
พระองค์สนทนากับนางตามลำพัง เมื่อพวกสาวกกลับมาถึงก็ประหลาดใจกับภาพที่เห็นและถามกันว่า “พระองค์ต้องการอะไร ทำไมถึงสนทนากับนาง?”
พระองค์สนทนาเรื่องอะไรกับนาง? บทสนทนาได้เปิดเผยให้นางเองได้รู้ว่า พระเยซูนั้นรู้จักนางเป็นอย่างดี พระองค์ทรงทราบว่านางมีชีวิตที่บกพร่องอย่างไร
มีความกระหายฝ่ายวิญญาณมากเพียงไร ซึ่งที่สุดนางก็ได้พบว่าในพระองค์มีน้ำพุแห่งชีวิตนิรันดร์ ทรงเป็นพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดที่เฝ้ารอ นี่คือภาษารัก
ที่พระองค์ที่ทรงสำแดงออกทำให้นางชื่นชมยินดี เกิดสันติสุขในจิตวิญญาณ ได้เชื่อและได้เป็นพยานถึงพระองค์ ทำให้ชาวสะมาเรียจำนวนมากมายรับเชื่อ
และสัมผัสกับความรักของพระองค์
นอกจากภาษารักที่พระเยซูสำแดงแก่หญิงชาวสะมาเรียแล้ว พระกิตติคุณมัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ก็ได้บันทึกถึงภาษารักของพระเยซูที่สำแดง
ผ่านการเทศนา, การสัมผัสคนโรคเรื้อน, การตรัสให้อภัยแก่หญิงล่วงประเวณี, การเลี้ยงอาหารคนหลายพันคน, การรับประทานอาหารกับคนเก็บภาษีซึ่งสมัยนั้น
ถือว่าเป็นคนบาป, การสนทนากับเด็กๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่สำคัญ, การร้องไห้เป็นทุกข์เพราะทรงทราบว่าในไม่ช้ากรุงเยรูซาเล็มและผู้คนมากมายจะถูกทำลาย
และภาษารักของพระองค์ที่งดงาม ยิ่งใหญ่ และทรงพลังที่สุด ก็คือการประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่ รับความบาปของมวลมนุษยชาติ
รับความทรมาน รับความอัปยศ และในที่สุดถูกตรึงจนสิ้นพระชนม์บนกางเขน ดังที่อัครทูตยอห์นได้กล่าวว่า
“…พระเจ้าทรงเป็นความรัก โดยข้อนี้ความรักของพระเจ้าก็เป็นที่ประจักษ์แก่เราทั้งหลาย คือพระเจ้าทรงใช้พระบุตรองค์เดียว
ของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อเราทั้งหลายจะได้ดำรงชีวิตโดยพระบุตร” (1 ยอห์น 4:8-9)
อัครทูตเปาโลก็ได้กล่าวถึงความรักว่าเป็นของประทานที่ดีที่สุด ที่เราควรแสวงหา ท่านกล่าวว่า “ความรักนั้นก็อดทนนานและกระทำคุณให้ ความรัก
ไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด ไม่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติผิด
แต่ชื่นชมยินดีเมื่อประพฤติชอบ ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ
และทนต่อทุกอย่าง” (1 โครินธ์ 13:4-7) เป็นภาษารักที่ชัดเจน งดงามและสูงส่ง ซึ่งเราพบได้ในชีวิตของพระเยซูนั่นเอง ในขณะที่คนทั่วโลกพยายามสื่อสารภาษารัก
ในรูปแบบต่างๆ ด้วยวิธีต่างๆ มากมาย เราผู้เชื่อวางใจในพระเยซูก็ได้รับการหนุนใจ ให้สื่อสารภาษารักแบบพระเยซูในทุกสิ่งที่ทำ (1 โครินธ์ 16:14) และ
“อย่าให้เรารักกันด้วยคำพูดและด้วยปากเท่านั้น แต่จงรักกันด้วยการกระทำและด้วยความจริง” (1 ยอห์น 3:18)
แม้ว่าการรักแบบพระเยซูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่เรามั่นใจได้ว่าเป็นไปได้ อัครทูตยอห์นได้หนุนใจเราว่า “เรารัก ก็เพราะพระองค์ทรงรักเราก่อน” (1 ยอห์น 4:19)
หมายความว่า เพราะเราได้รับความรักจากพระเยซู มีรักของพระองค์ในชีวิตแล้ว การสื่อสารภาษารักของพระองค์แก่ผู้คนจึงเป็นไปได้ ด้วยภาษารักเช่นนี้
ไม่เพียงแต่ทำให้โลกน่าอยู่ ผู้คนได้รับความสุข แต่ยังเป็นโอกาสให้คนอื่นๆ ได้รู้จักกับพระเยซู ได้พบสันติสุขแท้ ได้รับความรอดและชีวิตนิรันดร์
หัวข้ออธิษฐาน
- ขอบพระคุณและสรรเสริญพระเจ้าที่ทรงประทานความรักของพระองค์ผ่านพระวจนะ ผู้คนและสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตเสมอ
- ทูลขอพระเจ้าทรงโปรดเติมความรักของพระองค์ในหัวใจของเรา เพื่อเราจะสามารถสื่อสารภาษารักแก่คนอื่นได้
- ทูลขอการอวยพรชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณที่จะเติบโต เข้มแข็ง สามารถเป็นพยานฝ่ายพระคริสต์ทั้งคำพูดและการกระทำได้อย่างกล้าหาญ
- อธิษฐานเผื่อพี่น้องแต่ละคนในคริสตจักรที่จะได้มีส่วนร่วมในการรับใช้ด้วยความรัก ตามของประทานและความสามารถ